Trending

No tags found
Saturday Apr 13, 2024

“สรท.” คาดส่งออกทั้งปีโต 5% จี้รัฐลดค่าไฟยาวถึงสิ้นปี-ตรึงค่าบาทไม่ให้ต่ำกว่า 33 บาท/ดอลลาร์

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนก.พ.65 มีมูลค่า 23,483 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16.2% อานิสงส์จากคำสั่งซื้อสินค้าทุกกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าที่มาจากช่วงปลายปี 2564-ต้นปี 2565 หรือช่วงก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และคาดว่าในเดือนมี.ค.จะยังเติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 23,000-24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปีก่อน ทำให้คาดว่าในไตรมาส 1/65 การส่งออกจะขยายตัว 8% เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อไว้แล้วล่วงหน้า

โดย สรท.ติดตามและประเมินผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งคาดการณ์เบื้องต้นว่า อาจมีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิต ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เหล็ก ธัญพืช เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้คำสั่งซื้อจากคู่ค้าลดลงบางส่วน

ทั้งนี้หากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ อาจกระทบต่อการส่งออกในไตรมาส 2/65 โดยอาจมีคำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยในไตรมาส 2/65 ขยายตัว 2-4% โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานดังนี้ 1.ค่าเงินบาทต้องไม่ต่ำกว่า 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ 2.ราคาพลังงานอยู่ระหว่าง 95-105 เหรียญดอลลาร์/บาร์เรล 3.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ต่อเนื่องในช่วงฟื้นฟู 4.เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการต่อเนื่อง (Soft loan) 5.กรณีพิพาทรัสเชีย-ยูเครน ไม่ปานปลายขยายวงกว้างไปมากกว่านี้

“ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะนี้ยังมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าอยู่ที่ประมาณ 30% หลังจากช่วงไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป ปริมาณคำสั่งซื้อจะลดลง แต่ราคาต่อหน่วยจะเพิ่มขึ้น 5-10% ตามราคาพลังงาน”

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ไม่ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังคงทรงตังอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ สรท.ประเมินว่าการส่งออกของไทยปี 2565 จะยังเติบโตได้ที่ 5% (ณ เมษายน 2565) หรือทั้งปีส่งออกรวมมูลค่า 284,880 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 23,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดียังคงต้องจับตาแนวโน้มสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงไม่แน่นอน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญได้แก่ 1.สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซีย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศและปัจจัยที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งอาจทำให้มีการหยุดชะงักหรือชะลอตัวในภาคการผลิตเพื่อส่งออก จึงมีความจำเป็นที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเช่น ราคาพลังงาน(น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ทรงตัวในระดับสูง แม้จะส่งผลให้หมวดหมู่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีมูลค่าสูงขึ้น ในทางกลับกันส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกือบทุกประเภท รวมถึงต้นทุนการขนส่งที่ต้องปรับตัวสูงขึ้น ตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก กระทบเป็นห่วงโซ่มายังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัวทั่วโลก,ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์,เหล็ก,แร่หายาก,โลหะหายากเช่น นีออน แพลเลเดียม และแพลตตินัม,สินค้าธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบเช่น ข้าวสาลี,ข้าวโพด,ดอกทานตะวัน,วัตถุดิบที่ใช้ทำปุ๋ย เป็นต้น

2.ขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 3.ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ และค่าระวางเรือยังคงทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ของจีนอาจส่งผลกระทบเรื่อง Container circulation และความล่าช้าของตารางการเข้าเทียบท่า

4.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ในหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามและเข็มที่สี่ต่อเนื่อง และเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเดินทางเข้าประเทศสะดวกมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยด้วย ในทางกลับกันจีนประกาศล็อคดาวน์เซียงไฮ้ และเมืองสำคัญ เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และตามมาตรการ Zero covid อาจทำให้การค้าขายกับจีนมีการชะลอตัวไปบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์การอย่างใกล้ชิด

โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1.สรท.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ต่ำกว่า 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนอื่น2.คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อประคองให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจยังคงดำเนินการได้ต่อเนื่อง3.เร่งเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ ภาคส่งออก นำเข้า ภาคบริการ เพื่อเสริมให้เศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตได้

4.เร่งมองหาช่องทางขยายตลาดเพิ่มเติม ทั้งกลุ่มตลาดศักยภาพระดับรองที่อาจเป็นโอกาสของสินค้าไทย รวมถึงตลาดที่สามารถทดแทนกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อ จากกลุ่มประเทศกรณีพิพาท 5.ขอให้ภาครัฐช่วยควบคุมต้นทุนภาคการผลิตตลอดโซ่อุปทาน อาทิ ค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่าวัตถุดิบขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค 6.หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาเรื่องความมั่นคงในด้านต่างๆมากขึ้นจากประเด็นกรณีพิพาทของรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก อาทิ ความมั่นคง ด้านอาหาร ด้านพลังงานหรือพลังงานทางเลือก ด้านวัตถุดิบในการผลิตสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ด้านการเงิน เป็นต้น

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy

Back to Top